แคตตาล็อกฟิล์มกรองแสง

คู่มือติดฟิล์มกระจกบ้าน

เหมาะสำหรับคนที่บ้านร้อน และกำลังหาข้อมูลฟิล์มติดกระจกบ้าน
สิ่งที่คุณจะได้รู้เมื่ออ่านจบ

  • รู้สาเหตุว่าบ้านร้อนจากอะไร
  • เกี่ยวกับค่ากันร้อนที่บริษัทฟิล์มไม่อยากให้คุณรู้
  • ติดฟิล์มกระจกบ้านด้วยตัวเองจากอุปกรณ์ที่หาได้รอบตัว
  • การกะงบประมาณคร่าวๆถ้าอยากจ้างช่างมาติดฟิล์มที่บ้าน
เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกแสงUVทำร้าย

รู้จักความร้อนที่ผ่านกระจกเข้ามาในบ้านคุณ

แสงแดดที่ผ่านกระจกเข้ามา นอกจากรังสี UV แล้วยังมีรังสีที่มีคลื่นความร้อนติดมาด้วยเราเรียกว่ารังสีอินฟาเรด
ด้วยเหตุนี้ คุณจะพบว่าถ้าแดดส่องเข้ามาโดนสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะร้อนขึ้น เพราะมันดูดซับรังสีนี้เอาไว้
ผมจึงอยากแนะนำให้คุณรู้จักรังสีความร้อนซักนิด ก่อนจะเข้าเรื่องฟิล์มที่จะใช้ติดกระจกบ้านคุณ

แสงแดดที่ส่องผ่านหน้าต่างเข้ามาในบ้าน 3 แบบ

1.แบบทางตรง คือ แดดที่พุ่งจากดวงอาทิตย์ตรงมาที่กระจก

2. แบบทางอ้อม เป็นลักษณ์ของแสงแดดที่ตกใส่ที่อื่นแล้วสะท้อนเข้าบ้านเรา เช่น หลังคาเมทัลชีท,ตึกสีขาว, ลานปูนกว้าง ๆ เป็นต้น

3 โดนทั้งทางตรงและทางอ้อมเลย

อ้าว! แดดมันก็ร้อนเหมือนกันแหละ แล้วจะมาเล่าให้ฟังทำไม?

ไอ้ที่ว่าร้อนเหมือนกันก็ถูกต้องแล้วครับ แต่ที่เราจำแนกมันออกมาเพราะมันมีผลกับชนิดของฟิล์มที่เราจะเลือกใช้

วายร้ายตัวจริงที่อยู่ในแสงแดด

ขยายความจากที่เกริ่นไว้ข้างต้นคือ แสงแดดที่ส่องลงมา มีส่วนประกอบ

4% – เป็นรังสี UV มีความยาวคลื่น 0-380nm

43% – แสงที่ตามองเห็นได้ มีความยาวคลื่น (380nm-780nm)

53% – รังสีอินฟราเรด มีความยาวคลื่น 780nm-2500nm (วายร้ายตัวจริง)


จะรู้ไปทำไมว๊า….

จับตาดูตัวเลขต่อไปนี้ให้ดีนะครับ เจ้ารังสีอินฟาเรดนั้น มีช่วงความยาวคลื่น ตั้งแต่ 780-2500nm ฟิล์มที่ดีจึงต้องป้องกันได้ครอบคลุมตลอดความยาวคลื่นยังไงหล่ะ

ขอดราม่าซักหน่อยก็คือว่า ฟิล์มที่ทำได้แบบนี้ราคาใช้ได้เลย

แต่ไม่ต้องกังวลใจไปครับ เพราะถ้าคุณเข้าใจและสังเกตุลักษณะ ของแสงที่ส่องเข้ามาในบ้านว่าเป็นแบบ ทางตรง, ทางอ้อม, หรือแบบผสม คุณจะประหยัดค่าฟิล์มได้ 3 เท่า  ฟังไม่ผิดครับ 3 เท่า

1. ถ้าแดดส่งตรงเข้ามา ให้ใช้ฟิล์มที่กันความร้อนด้วยการสะท้อนกลับ เช่น กลุ่มฟิล์มปรอท, ฟิล์มเมทัลไลซ์ หรือฟิล์มที่มีส่วนผมของโลหะ เพราะแสงแดดที่ส่องเข้ามาตรงๆ จะมีอินฟาเรดที่เป็นคลื่นความถี่สูง ฟิล์มแบบที่มีโลหะผสมจะสะท้อนรังสีได้ดี


2. แสงแดดทางอ้อม ใช้ฟิล์มกลุ่มที่ทำงานแบบดูดซับความร้อนจากการแผ่รังสี สาเหตุเนื่องจาก เวลาแดดตกกระทบลงไปบนพื้นปูนหรือหลังคาข้างบ้าน แสงแดดจะเปลี่ยนสภาพจากคลื่นความถี่สูงเป็นความถี่ที่ต่ำกว่า ซึ่งฟิล์มที่เหมาะกับหน้างานแบบนี้ คือกลุ่มฟิล์มคาร์บอน ฟิล์มเซรามิค ฟิล์มวันเวย์บางแบบ

3.ถ้าโดนแบบผสม บอกเลยว่าสุด ๆ แนะนำให้ใช้ฟิล์มแบรนด์ใหญ่ ๆ เพราะถ้าใช้ฟิล์มแบรนด์โนเนม อายุการใช้งานจะสั้นลง เช่นเขาบอกว่ารับประกัน 7 ปี ใช้ได้จริงไม่เกิน 5 ปี ซึ่งร้านเราจะอธิบายตรงๆ กับลูกค้าไปเลยครับ

ติดฟิล์มกระจกบ้านช่วยกันร้อนได้อย่างไร

บริษัทฟิล์มชั้นนำส่วนใหญ่ จะแยกแคตตาล็อกฟิล์มติดรถยนต์ กับฟิล์มอาคาร ออกจากกันแต่จะเอาฟิล์มรถมาติดกระจกบ้านก็ไม่ผิดอะไรครับ แต่บริษัทใหญ่ ๆ ส่วนมากจะลดระยะเวลาการรับประกัน

ฟิล์มกรองแสงในตลาดกันความร้อนแบบนี้ครับดูตามภาพเลย

บ้านร้อนเพราะรังสีความร้อน

อธิบายตามภาพก็คือ แสงที่ส่องผ่านกระจกที่ติดฟิล์มแล้ว ความร้อนส่วนหนึ่ง จะสะท้อนออกไป ส่วนหนึ่งจะสะสมอยู่ที่ตัวฟิล์มและกระจก โดยเมื่อความร้อนถึงสะสมจุดหนึ่ง ก็จะมีการคายตัวออกมาจากกระจกทั้งภายนอกและภายใน

ถ้าฟิล์มสะท้อนความร้อนได้เยอะ ความร้อนสะสมก็จะเกิดขึ้นช้า

ถ้าฟิล์มดูดความร้อนเก่ง ความร้อนสะสมก็จะเกิดขึ้นเร็ว ยกเว้นความร้อนที่เป็นแบบไอร้อนจากพื้นถนนหรือสังกะสี ฟิล์มแบบดูดซับจะสามารถทำงานได้ดี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะแแสงที่ส่องเข้ามาตามที่ได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้

ฟิล์มติดกระจกบ้านมีกี่ประเภท

ถ้าแบ่งตามกระบวนการผลิตหลัก ๆ ในตลาด มี 4 ประเภท

  1. ฟิล์มย้อมสี (Tint Film)  เป็นฟิล์มที่ใช้การเคลือบสีลงไปบนเนื้อฟิล์มเพื่อให้เกิดความเข้มอ่อน เป็นที่มาของคำเรียกสมัยก่อนว่า ฟิล์มกรองแสง ใช้ความเข้มเพื่อลดปริมาณแสง แต่มีผลพลอยได้ คือ ความร้อนที่ลดลงเพราะแสงแดดผ่านเข้ามาน้อย แต่โดยเฉลี่ยฟิล์มที่เข้มสุดยังกันความร้อนได้เพียง 50% นิดหน่อย ปัจจุบันยังมีขาย และราคาถูกมาก
  2. ฟิล์มเมทัลไลซ์ (Metalized) ฟิล์มเหล่านี้มีโลหะเช่น นิกเกิล ทองแดง อะลูมิเนียม หรือแม้แต่ทองคำ ในการเคลือบชั้นเพื่อป้องกันความร้อน โดยความสามารถของการกันความร้อนนอกจากชนิดของโลหะแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของโลหะที่เคลือบลงไปในแต่ละตารางนิ้วด้วย
  3. ฟิล์มคาร์บอน (Carbon Film) เคลือบด้วยคาร์บอน ทนต่อการซีดจางได้ดี กันความร้อนได้สูง
  4. ฟิล์มเซรามิค (Ceramic Film) ไม่มีส่วนผสมของโลหะ ป้องกันรังสีอินฟาเรดได้สูง มีความทนทานต่อการกัดกร่อนและใช้ดีมาก ๆ สำหรับบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีเกลือทะเลลอยอยู่ในอากาศ


ตีแผ่ค่ากันความร้อนของฟิล์มที่แท้จริง

ท่านที่กำลังมองหาฟิล์มติดกระจกบ้าน จะพบว่ามีฟิล์มมากมายในตลาด ชูจุดขายที่ค่ากันรังสีอินฟาเรด หรือ IR ซึ่งวันนี้ พ.ศ. 2565 มีฟิล์มที่ประกาศว่าตัวเองกันรังสีอินฟาเรดได้ 99% เรียบร้อยแล้ว ถ้ามองผ่าน ๆ คือ แทบจะไม่มีความร้อนหลุดเข้ามาได้เลย

พอผนวกกับเซลส์ขายฟิล์มหลายคนเลี่ยงบาลี เรียกตัวเลขของค่า IR เหล่านี้ว่า ค่ากันรังสีความร้อน  แทนค่ากันร้อนรวมหรือค่า TSER (Total Solar Energy Reject)

ตอกย้ำให้คุณเชื่อสนิทใจด้วยการหยิบเครื่องวัดค่าอินฟาเรดโชว์ให้ลูกค้าดูว่าทำได้จริง

ว้าวววว….

ผมขอทบทวนข้อความก่อนหน้านี้ที่ผมอธิบายว่ารังสีอินฟาเรด มีช่วงความยาวคลื่นอยู่ที่  780-2500nm

ซึ่งตอนนี้ฟิล์มที่มีค่ากันรังสีอินฟาเรดสูง ๆ แต่ราคาถูก ส่วนมากจะกันรังสีได้ช่วงคลื่นแค่ 900nm-1100nm เท่านั้น  นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าได้ฟิล์มสเป็คสูงในราคาถูก

โดยเครื่องมือวัดแบบพกพาที่นำไปเสียบเทสให้คุณดู ก็มักจะทำงานได้ดีแค่ช่วงคลื่นที่ฟิล์มตัวเองทำได้ดี พอไปเอาเครื่องวัดของบริษัทอื่นมาเสียบ ค่าที่ได้ก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง

ถ้าเอาฟิล์มโลคอลแบรนด์ที่ชื่อไม่คุ้นหูกับยี่ห้อที่วางขายทั่วโลก มาวางคู่กัน เราจะเห็นได้ชัดว่า “ค่ากันความร้อนรวมหรือค่า TSER ของฟิล์มโลคัลแบรนด์ จะสูงกว่าฟิล์มอินเตอร์แบรนด์” ที่วางขายทั่วโลก

คำแนะนำของผมคือ

เวลาจะเทียบฟิล์มโลคัลแบรนด์ด้วยค่า TSER ให้เทียบในแบรนด์เดียวกัน เอาแค่รหัสไหนกันร้อนได้มากกว่ารหัสไหนพอ ไม่สามารถเทียบข้ามแบรนด์ได้ครับ

วิธีกำหนดสเป็คฟิล์ม ก่อนเรียกช่างมาคุย

ถ้าคุณไม่เคยติดฟิล์มกระจกบ้านมาก่อน หรือยังไม่เคยเห็นแคตตาล็อกฟิล์มกรองแสงอาคาร ให้ท่องในใจว่า “ความสามารถในการกันความร้อนของฟิล์ม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเข้ม” กล่าวคือ ฟิล์มใสกว่าก็สามารถมีค่ากันความร้อนดีกว่าได้

ขั้นตอนวิเคราะห์ปัญหาจากตัวบ้าน

1.ปัญหาความร้อนของแต่ละห้อง โดยให้ดูรอบบ้านว่าแต่ละห้องโดนแดดเช้าหรือแดดบ่าย โดยพิจารณาทีละห้อง เพราะเราไม่จำเป็นต้องติดฟิล์มรุ่นเดียวกันทุกห้อง เช่น ห้องนั่งเล่นอาจติดใสหน่อย ห้องนอนติดเข้มสุด ก็ได้โดยเพียงแค่คุณเลือกฟิล์มซี่รี่เดียวกัน เพื่อให้คุมเฉดสีของบ้านทั้งหลัง

2. คุณต้องการความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ความหมายคือติดฟิล์มที่คนข้างนอกมองไม่เห็นข้างในแต่คนข้างในมองเห็นข้างนอก

3. ภาพลักษณะภายนอก หลังจากติดฟิล์มแล้วอยากให้บ้านมีสไตล์แบบไหน เช่น ไม่อยากให้เปลี่ยนมาก, อยากให้ดูคลาสสิก, อยากให้ดูทันสมัยขึ้น เป็นต้น

ตั้งโจทย์ง่าย ๆ เท่านี้เลยครับ แล้วจากนั้นก็เรียกช่างให้เอาฟิล์มกรองแสงอาคารมาให้เลือก

การรับมือช่างที่มาเสนอฟิล์มติดบ้าน

หลังจากตั้งสเป็คในใจไว้แล้ว เมื่อช่างมาถึงก็ไห้ช่างไปวัดกระจก แล้วขอตัวอย่างฟิล์มไว้ ระหว่างรอช่างก็ให้คุณทำแบบนี้ครับ

1. ยกฟิล์มขึ้นมาส่องดูว่าเมื่อมองผ่านฟิล์มแล้วเฉดสีไหนที่ทำให้เรารู้สึกสบายตา ทำเหมือนคุณกำลังเลือกแว่นกันแดดเลยครับ ชอบโทนเขียว โทนชา โทนฟ้า โทนเทา เลือกเอาซักโทน

2. เมื่อได้ความสว่างและเฉดสีที่เราชอบแล้ว ดูว่าแบบที่เราชอบมียี่ห้ออะไรบ้าง เช่น เราชอบสีเขียว V-Kool ไม่มีสีเขียวคุณก็แยกออกไป ไม่ต้องดูอีก เหลือ Hi-Kool กับ Wintech เอาไว้เทียบกัน ทำให้ง่ายไม่ต้องกลับไปกลับมา
หมายเหตุ ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่ติดเรื่องเฉดสี และอยากได้แบรนด์ที่เชื่อใจได้ ให้คัดแบรนด์ที่ไม่ชอบออกแทน

3. ถ้าคุณต้องการติดฟิล์มเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้อ่านข้อนี้ ถ้าไม่เน้นความเป็นส่วนตัว ให้ข้ามไปข้อ 4
            เพื่อไม่ให้คนข้างนอกมองเข้ามาเห็นข้างใน ทำได้ 2 วิธี คือ ใช้ความเงาของฟิล์มหรือใช้ความเข้มของฟิล์มช่วย

            ฟิล์มชนิดเงา หรือฟิล์มปรอทนั้น ให้ใช้ฟิล์มปรอทด้านเดียวหรือที่เรียกว่า ฟิล์มปรอทนอก บางครั้งก็เรียกว่าฟิล์มวันเวย์ ก็ได้เช่นเดียวกัน ข้อได้เปรียบของฟิล์มปรอทคือมีให้เลือกหลายความเข้มเช่น แสงส่องผ่าน 15% 10% 5% ซึ่งได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน (ไม่ควรเลือกแสงส่องผ่านมากกว่า 15%)

            ฟิล์มดำ หรือฟิล์ม 80% ส่วนมากจะมีค่าแสงส่องผ่านราว 3-8%  ซึ่งจัดว่าแสงผ่านได้น้อย แต่ก็มีข้อดี สำหรับบ้านที่กังวลเรื่องแสงสะท้อนจะไปกระทบบ้านอื่น

4. เมื่อคุณได้เฉดสี และความเข้มอ่อน ที่ต้องการแล้ว ให้คุณดูค่ากันความร้อนรวม(TSER) ของฟิล์มที่คัดเอาไว้ว่าอันไหนค่ากันร้อนถูกใจ โดยการเปรียบเทียบ ถ้าอันหนึ่งเป็นแบรนด์ใหญ่อย่าง 3M เทียบกับแบรนด์โลคอลเช่น MKool ก็ให้ลดค่ากันร้อนลงประมาณ 15% เช่น MKool  บอกค่ากันร้อน 70% ก็ให้เอามาลบ 15 จะเหลือ 55% แล้วค่อยเอาไปเทียบกับ 3M

5. ที่เหลือเป็นปัจจัยในเรื่องราคา หลักโดยอนุมานก็คือว่า ถ้าฟิล์มกันความร้อน 60% เท่ากัน ฟิล์มที่ราคาสูงกว่า จะยืนระยะของประสิทธิภาพได้ยาวกว่า

            ยกตัวอย่าง คุณติดฟิล์มกระจกบ้านราคาถูกกับราคาแพง ตอนติดเสร็จใหม่ ๆ อาจจะกันความร้อนได้เท่ากันที่ 60% แต่ผ่านไป 1 ปี ประสิทธิภาพตัวแพงอาจลดเหลือ 59% ในขณะที่ตัวถูกเหลือ 55 % ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการหลุดร่อนแต่ประการใด เพราะว่าปัจจุบันนี้เทคโนโลยีของกาว ก้าวหน้าสูสีกันมาก วัดกันที่เนื้อฟิล์มกับตัวที่เคลือบกันความร้อน

อุปกรณ์ติดฟิล์มบ้าน

การติดฟิล์มกระจกบ้านด้วยเครื่องมือรอบตัวคุณ (DIY)

นับตั้งแต่สถานะการณ์โควิดเป็นต้นมา มีผู้คนเวิร์คฟอร์มโฮมเป็นจำนวนมาก

หลายคนอยากลองซื้อฟิล์มจาก Shopee หรือ Lazada มาติดเอง ผมจึงอยากขอแนะนำอุปกรณ์ง่ายๆ ที่หาได้ภายในบ้าน เพื่อจะได้ติดฟิล์มกระจกบ้านราคาถูกและมีกิจกรรมทำกันสนุกๆ ด้วยครับ

เตรียมอุปกรณ์ง่าย ๆ ตามรูปได้เลยครับ

1 ฟ็อกกี้ฉีดน้ำ ร้านทุกอย่าง 20 บาทมีขาย

2 ยางรีดทำความสะอาดกระจก ที่ IKEA อันละ 69 บาทใช้ดีมาก

3 คัทเตอร์ ทั่วๆ ไป

4 เกียงรีดฟิล์ม ถ้าไม่มี เอาบัตรเครดิตเก่าๆ มาใช้แทนก็ได้

5 ทิชชู่ ขอเป็นทิชชู่แบบหนาใช้ซับน้ำมันเวลาทำอาหาร

6 แชมพูสระผม

ส่วนขั้นตอนนั้นสามารถหาดูได้ตามในยูทูปเลยครับ

แต่พื้นที่ตรงนี้ผมจะสรุป ทิปแอนด์ทริ๊กที่คลิปในยูทูปไม่มีสอนให้ครับ

ติดฟิล์มกระจกบ้านนั้น เนื้องานที่กินแรงที่สุด คือการทำความสะอาดกระจก ส่วนการลอกฟิล์ม แปะฟิล์ม จนกระทั่งรีดน้ำออกมา มันง่ายดูคลิปแล้วทำตามได้เลย

งานติดฟิล์มจะยากหรือง่ายอยู่ที่ตรงขอบกระจก เพราะมีผลต่อการกรีดฟิล์มให้ชิดขอบ สวยงาม หากกรีดไม่ดี จะเกิดช่องแสง ไม่สวย แถมยังแยงตา น่ารำคาญ
อยากให้คุณลองดูที่ขอบกระจกบ้านคุณว่า เป็นแบบใดแบบหนึ่งในนี้หรือเปล่า

– กรอบกระจกอลูมิเนียมอัดขอบด้วยเส้นยางสำเร็จรูป แบบนี้คือง่ายที่สุด เพียงกรีดชิดขอบตามแนวยางก็ได้งานที่สวยงามแล้ว

– กรอบเหล็กหรืออลูมิเนียมยาด้วยซิลิโคน อันนี้ยากขึ้นมาอีกเลเวลหนึ่ง เนื่องจากกาวของฟิล์มไม่ยึดติดกับซิลิโคน คุณจะแปะทับเลยไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการเฉือนเนื้อซิลิโคนที่ปลิ้นออกมาให้เป็นแนวตรง เพื่อช่วยให้เกิดแนวในการกรีดฟิล์ม
(ภาพ)

– กระจกในกรอบไม้ อันนี้ยากมาก เพราะเวลาเรารีดน้ำออกจากฟิล์ม น้ำจะซึมเข้าใส่ยาแนวริบกระจกที่เป็นเหมือนผงแป้ง และน้ำนั่นเองจะพาแป้งเหล่านั้นย้อนกลับมาอยู่ใต้ฟิล์ม แต่ถ้าไม่ซีเรียส คำแนะนำคือ ให้กรีดฟิล์มจนพอดีกับกระจกก่อนลอกแผ่นด้านหลัง แล้วค่อยลอกกาวแปะเข้าไป โดยไม่ต้องกรีดอีกครั้ง จึงจะช่วยลดปริมาณฝุ่นได้

ช่างกำลังติดฟิล์มกระจกบ้านทาวน์โฮม

จ้างบริษัทติดฟิล์มกระจกบ้านราคาเท่าใหร่?

ผมให้เป็นราคากลาง ๆ นะครับ เพื่อให้ลูกค้าตั้งงบประมาณคร่าว ๆ ได้ โดยผมจะให้ราคาต่อตารางเมตร ซึ่งคุณสามารถเอาตลับเมตรวัดกว้างคูณยาว แบบรวมวงกบไปด้วยเลย จะได้ง่ายในการคำนวณ

ฟิล์มกลุ่มคาร์บอน เซรามิค

  • Wintech (แบรนด์นอกเซรามิคหรือคาร์บอน) ตารางเมตรละ 750 บาท
  • Ceramic OEM (เป็นฟิล์มสเป็คสูงคัดมาจากโรงงานก่อนตีแบรนด์)   800 บาท
  • 3M Ceramic   ตารางเมตรละ  1300 บาท

ฟิล์มกลุ่ม Metalized

ข้อแนะนำคือ หาผู้รับเหมาที่อยู่ในธุรกิจฟิล์มอาคารโดยตรง เพราะจะสะดวกในเรื่องการเคลมเมื่อฟิล์มมีปัญหา อย่างเช่น บ้านฟิล์มสวย เอง เมื่อรับเรื่องแล้วสามารถคอนเฟิร์มได้ภายใน 1 ชั่วโมงเลยว่าจะเข้าหน้างานที่มีปัญหาได้วันไหน  แบบนี้เป็นต้น

การดูแลรักษาฟิล์มหลังจากติดไปแล้ว

1. ไม่ใช้น้ำยาเช็ดกระจกหรือใดๆ ที่มีส่วนผสมของแอมโมเนียเช็ดโดยตรง

2. นึกอะไรไม่ออกไลน์หาช่างที่มาติดเลยครับ (สบายจริงๆนะ)

สรุปส่งท้ายการติดฟิล์มกระจกบ้าน

ในแสงแดด มีรังสี UV ทำให้เกิดการซีดจาง – มีรังสีอินฟาเรดที่ทำให้เกิดความร้อน

ค่าอินฟาเรดที่บริษัทฟิล์มเอามานำเสนอสูง ๆ ทำไมบางรุ่นราคาถูก บางรุ่นราคาแพง

สาเหตุเพราะ รังสีอินฟาเรด มีช่วงคลื่น 780-2500 นาโนเมตร แต่ฟิล์มราคาถูกจำนวนมาก กันอินฟาเรดที่ช่วงคลื่น  900-1000 นาโนเมตร เท่านั้น  โดยคุณสามารถหาข้อมูลนี้ได้จาก European Window Film Association หรือ EWFA

การเลือกติดฟิล์มกระจกบ้าน ให้ดูสีที่เรารู้สึกสบายตาก่อน ถ้าค่ากันร้อนแตกต่างจากอีกรุ่นแค่ 5-7% ไม่ต้องซีเรียส ให้เอาสีที่ชอบเลย จำไว้ว่า “ถ้าสีไม่สบายตา เราจะหงุดหงิดก่อน แดดจะออก” อยากติดฟิล์มเอง สามารถดูจาก Youtube ได้เลย ส่วนที่ยากที่สุดอยู่ที่การกรีดให้พอดีกับขอบกระจกเท่านั้นเอง
ส่วนการจ้างผู้รับเหมา ให้หาผู้รับเหมาที่ทำฟิล์มอาคารโดยตรง มีสถานะภาพเป็นตัวแทนของบริษัทฟิล์มเพราะจะทำให้คุณได้ของแท้และบริการหลังการขายที่ดี